วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

บทบาทครูในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

บทบาทครูในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากการเรียนรู้ที่ครบวงจร ซึ่งได้แก่การให้ผู้เรียนเลือกเรื่องที่จะเรียนและวิธีการเรียน จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติตามที่ได้คิดไว้โดยการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่ม แล้วสรุปความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ยังเกิดจากการสนับสนุนจากปัจจัยเอื้อสาม ประการคือ การเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของวัยหรือพัฒนาการได้แก่ การเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหวและการกระทำ ปัจจัยเอื้อประการต่อมาคือบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่สร้างความ รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ส่วนปัจจัยเอื้อที่สามคือ

การดูแลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของครูในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้สร้าง ความรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับครู และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดบรรยากาศที่เหมาะสมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก เพราะการเรียนท่ามกลางบรรยากาศที่มีความสุข ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายไม่กดดัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน

บรรยากาศในชั้นเรียนจำแนกออกได้ดังนี้
1. บรรยากาศทางจิตวิทยา เป็นลักษณะของบรรยากาศที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของ ผู้เรียนที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้เรียน ถ้าลักษณะบรรยากาศทางจิตวิทยาเป็นไปในทางบวก ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย และมีผลทำให้รู้สึกมีความสุขในการเรียนรู้ ทำให้เป็นผู้ที่รักและใฝ่ในการเรียนรู้
2. บรรยากาศทางกายภาพ เป็นลักษณะของบรรยากาศที่เกิดจากการจัดอาคารสถานที่ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ และสภาพของผู้เรียน การจัดบรรยากาศทางกายภาพที่ตอบสนองผู้เรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และดำเนินกิจกรรมด้วยความราบรื่น ส่งผลให้การเรียนรู้ดำเนินไปด้วยดี ไม่ติดขัดไม่รู้สึกว่ามีความ ยุ่งยาก ทำให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนและเป็นผู้เรียนที่กระตือรือร้น มีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว
3. บรรยากาศทางสังคม เป็นบรรยากาศที่เกิดจากผลการปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มที่อยู่ ร่วมกันและทำกิจกรรมร่วมกัน การมีบรรยากาศทางสังคมที่เป็นมิตรต่อกัน จะทำให้ผู้เรียนรู้สึก อบอุ่นใจ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน มีการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการจัดการศึกษา

การจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้

จากประเภทของบรรยากาศที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น ครูซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวได้ จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ มีประสิทธิภาพดังนี้
1. บรรยากาศทางจิตวิทยา ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2543 : 16-17) ได้ให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด ควรเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวผู้เรียนรู้มากที่สุด คือความรู้สึกภายใน ทั้งนี้จะต้องไม่มีบรรยากาศของความกลัว ความหวาดระแวง ความดูหมิ่นเหยียดหยาม ติเตียน บรรยากาศของการเรียนรู้ที่เน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญจะต้องให้อิสรภาพแก่ผู้ เรียน โดยเฉพาะอิสรภาพจากความหวาดกลัว ซึ่งจากความเห็นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบรรยากาศทาง จิตวิทยาที่มีผลต่อความรู้สึก และการกระทำของผู้เรียน บรรยากาศทางจิตวิทยาที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนสามารถดำเนินการ ได้ดังนี้
1.1 การสร้างบรรยากาศที่ท้าทายกระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากแก้ปัญหา อยากแสวงหาคำตอบ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความรู้สึกว่าตนเองมีความ สามารถที่จะแก้ปัญหาหรือทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้ และให้กำลังใจ เมื่อ ผู้เรียนได้ลงมือทำหรือตอบสนอง รวมทั้งการยกตัวอย่างความสำเร็จ หรือสิ่งที่ผู้เรียนเคยทำมาก่อน ทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจในความสามารถ และเกิดความภูมิใจทำให้ไม่มีความกลัวที่จะทำ กิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป
1.2 การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย มีความเป็นมิตร ปราศจากความ หวาดกลัวที่จะแสดงออก ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวจะทำให้เด็กเป็นคนกล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะคิดลองทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าผลที่ได้นั้นจะเป็นไปตามที่คิดหรือไม่ก็ตาม การสร้างบรรยากาศดังกล่าวสามารถทำได้โดยครูทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้เรียน ให้เกิดความราบรื่นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยอาจเข้าไปช่วยเป็นผู้ร่วมคิดในการทำปัญหาที่ยากให้ง่ายหรือลดความซับซ้อน ลง แต่ยังคงให้เด็กได้ใช้ความสามารถของเขาในการเรียนรู้ โดยมีการสนับสนุนเสริมแรง และให้คำปรึกษาจากครู
1.3 บรรยากาศที่เป็นอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง บรรยากาศดังกล่าวนี้จะทำให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ลดการพึ่งพิงผู้อื่น กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง กล้าริเริ่ม มีความคิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ และกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บรรยากาศที่เป็นอิสระนี้ทำได้โดยครูให้โอกาส และสนับสนุนให้เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ครูเป็นเพียงผู้ให้ คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องให้โอกาสแก่เด็กแต่ละคนในการที่จะเลือกวิธีการเรียนรู้ที่ เหมาะสมกับตน และให้เวลาอย่างพอเพียงตามความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้และใช้เวลาในการเรียนรู้ที่แตกต่าง กัน แต่แม้ว่าเด็กจะได้รับอิสระดังกล่าว ครูก็ต้องสอนให้เด็กคำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน ความเป็นอิสระของแต่ละคนจะต้องไม่รบกวนหรือทำให้ผู้อื่นมีความสะดวกน้อยลง
1.4 บรรยากาศที่ให้ได้รับความสำเร็จและเรียนรู้ผลที่เกิดจากการทำสิ่งต่าง ๆ บรรยากาศดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล มีการกำหนดจุดมุ่งหมายของการทำสิ่งต่าง ๆ และยอมรับผลจากการกระทำทั้งความสำเร็จและผลที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ครูสามารถสร้างบรรยากาศดังกล่าวได้โดยการให้เด็กกำหนดจุดมุ่งหมายและวาง แผนที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ และลงมือปฏิบัติตามที่วางแผนไว้ ให้เวลาอย่างเพียงพอที่จะทำตามแผนงาน ครูคอยสนับสนุนให้กำลังใจ คอยแก้ปัญหาเมื่อเด็กต้องการ ให้ได้รับข้อมูลย้อนกลับหลังการปฏิบัติ ให้การเสริมแรงชื่นชมยินดีต่อผลสำเร็จ แต่ถ้าหากผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจถึงการหาความรู้จากความล้มเหลว ให้กำลังใจและให้ทดลองแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ต่างออกไป
1.5 บรรยากาศแห่งการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน โดยการเริ่มจากการที่ครูยอมรับผู้เรียนให้ความสำคัญต่อการคิดและการกระทำของ ผู้เรียน รับฟังและให้มีส่วนร่วมในการจัด กิจกรรมการเรียนรู้ จัดให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มให้ได้รับความสำเร็จจาก การทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการยอมรับระหว่างเด็กกับเพื่อน และเกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากครู เห็นความสำคัญของกลุ่ม บรรยากาศ ดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาวุฒิภาวะ ได้รับประสบการณ์ทางบวกในการพัฒนาตนเอง เกิดการ นับถือระหว่างกัน ทำให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สามารถที่จะคิด เลือกและตัดสินใจ เข้าใจถึงความสามารถของตนเอง ยอมรับผลการกระทำทั้งที่สำเร็จและทำความเข้าใจได้เมื่อทำผิดหรือล้มเหลว รู้จักนำอุปสรรคหรือความล้มเหลวมาเป็นประสบการณ์การเรียนรู้และแนวทางแก้ ปัญหา เนื่องจากเชื่อว่าตนมีความสามารถที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
1.6 บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด สนิทสนมและมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน เนื่องจากเด็กทุกคนต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ ต้องการการเอาใจใส่ และความรักใคร่ การจัดให้ผู้เรียนอยู่ร่วมกัน ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยขจัดหรือลดความขัดแย้งลงให้มาก ที่สุด หรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย การสอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักการให้อภัย และช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ กลมเกลียวกัน นอกจากนี้ครูต้องแสดงความรู้สึกที่ดีต่อผู้เรียน แสดงให้ผู้เรียนรับรู้ว่าตนเป็นที่ยอมรับของครู ทั้งการคิดและการกระทำ การแสดงออกของครู ได้แก่ การแสดงท่าทีที่แสดงถึงการเอาใจใส่ทางบวกต่อผู้เรียนอย่างจริงใจที่สอดคล้อง กับการแสดงออกทางบวกของผู้เรียน เช่น การสัมผัสทางกาย การมอง การสบตา การใช้คำพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง การได้รับการเอาใจใส่ดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการของครู มีความสำคัญ เป็นคนหนึ่งที่มีความหมาย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และต่อผู้อื่น บรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ ทำให้เกิดความสุขในการทำสิ่งต่าง ๆ และเกิดการเรียนรู้โดยง่าย
2. การจัดบรรยากาศทางกายภาพ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมด้านอาคาร สถานที่ สื่อวัสดุอุปกรณ์ และแหล่งความรู้ที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียน โดยเน้นความสะดวกสบาย สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีเครื่องมือและแหล่งความรู้ สอดคล้องกับกิจกรรมและความต้องการ สำหรับการจัดบรรยากาศทางกายภาพที่ส่งเสริมการเรียนรู้สามารถดำเนินการได้ดัง นี้
2.1 การจัดสถานที่และบริเวณในห้องเรียนที่อำนวยความสะดวกและตอบสนองการทำกิจกรรม ต่าง ๆ โดยมีการกำหนดพื้นที่ในการจัดเก็บอุปกรณ์ เครื่องเล่น ที่เด็กต้องการใช้อย่างเป็นระบบสะดวกในการนำมาใช้ การทำความสะอาดและการจัดเก็บจัดบริเวณการทำกิจกรรมที่สะดวกต่อการทำกิจกรรม เป็นกลุ่ม มีบริเวณที่ว่างพอที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ สามารถเตรียมย้ายไปสู่การทำกิจกรรมอื่นได้โดยไม่รบกวนทำกิจกรรมของผู้อื่น มีการจัดบริเวณสำหรับการจัดแสดงหรือเก็บผลงานที่เกิดจากการทำกิจกรรมของเด็ก
2.2 การจัดสื่อวัสดุ อุปกรณ์ที่สอดคล้องกับกิจกรรม ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยเรียนรู้จากการกระทำ การมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ วัสดุต่าง ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและแสดงผลการเรียนรู้ผ่านการแสดงออกและจากผลงาน ดังนั้นจะต้องจัดหาสื่อ อุปกรณ์ที่สอดคล้องกับรูปแบบกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ การมีสื่อ วัสดุอย่างหลากหลาย พอเพียง สะดวกในการนำมาใช้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้
2.3 การจัดแหล่งความรู้ที่สอดคล้องกับกิจกรรมและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งแหล่งความรู้เหล่านี้ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งที่สอดคล้องกับหน่วยประสบการณ์ที่ผู้เรียนเลือกเรียน และแหล่งความรู้ที่จัดประจำไว้ เพื่อตอบสนองความสนใจที่หลากหลาย การจัดแหล่งความรู้ควรคำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและใช้ได้ อย่างสะดวก ขณะเดียวกันแหล่งความรู้ก็ต้องน่าสนใจ เป็นเครื่องเร้ากระตุ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนอยากสืบเสาะ ค้นหา และลงมือปฏิบัติ
3. บรรยากาศทางสังคม เป็นบรรยากาศที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกรักที่จะเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย การเรียนรู้ดังกล่าว ได้แก่ การเรียนรู้ด้านความรู้ และการเรียนรู้ทางสังคม ทั้งนี้เนื่องจาก เป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา คือ การให้ผู้เรียนมีความรู้ และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างราบรื่นมีความ สุข สำหรับการจัดบรรยากาศทางสังคมที่สนับสนุนการเรียนรู้ สามารถดำเนินการได้ดังนี้
3.1 การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกัน โดยครูต้องกำหนดให้มีอิทธิพลในห้องให้น้อยที่สุด สร้างระบบการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับผู้เรียนด้วยกัน ฝึกการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
3.2 การสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ โดยจัดกิจกรรมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เล่น ทำงานและเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน ครูคอยปรับปรุงการใช้ภาษา มารยาทและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถทำงานกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างดี เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำสิ่งต่าง ๆ ในบรรยากาศร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันกันบ้าง แต่ควรเป็นการแข่งขันกันอย่างเป็นมิตร ได้มีโอกาสได้รับผลแห่งการทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้ง ด้านความคิด และการกระทำอันส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป
3.3 สร้างบรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันทั้งครูกับผู้เรียน ในหมู่ ผู้เรียนด้วยกัน และกับบุคคลอื่น ๆ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เริ่มด้วยการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารระหว่างกันนั้นสามารถทำได้ทั้งการใช้วาจา ภาษาท่าทาง และการปฏิบัติต่อกัน ครูมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อกันด้วยดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ครูมีหน้าที่ในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจะต้องเป็นแบบฉบับของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเองกับผู้อื่น
3.4 สร้างบรรยากาศที่ไม่กดดัน โดยลดกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขัน เพื่อให้เกิดผลแพ้ ชนะหรือการเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น ให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงออกเท่าเทียมกันและได้รับการยกย่องเหมือนกัน สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ ควรประเมินผลที่แสดงถึงพัฒนาการแห่งความเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ให้ผู้เรียนได้รู้ผลของการกระทำของตนเอง และมีการพัฒนา ตนเองโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้อื่น
จะเห็นได้ว่าบทบาทของครูในการจัดการเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ส่งเสริมการ เรียนรู้นั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเช่นเดียวกับการจัด ประสบการณ์ด้านสาระการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะการสร้างบรรยากาศที่ดีไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงให้ผู้เรียนเกิด การเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อการเรียน ทำให้เกิดลักษณะของการเป็นผู้ที่รักการเรียนรู้และมีความต้องการที่จะรู้ใน สิ่งต่าง ๆ ต่อไป

บทบาทครูปฐมวัยในการจัดการเรียนรู้

สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ (2542 : 37-38) ได้ระบุถึงบทบาทครูในการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่พิจารณา จากกระบวนการสอนไว้ 3 ประการคือ 1) บทบาทในการเตรียมการสอน ได้แก่ การเตรียมสาระการเรียนรู้ การจัดหาแหล่งเรียนรู้และการวางแผนการสอน 2) บทบาทในการสอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างบรรยากาศ การจัดสภาพแวดล้อม การกระตุ้นเร้าผู้เรียน การอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่ได้ออกแบบไว้ 3) บทบาทในการประเมินผลการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ ต้องการ


จากแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว สามารถนำมาสู่การจัดการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยศึกษาที่มีองค์ประกอบ 3 ประการดังนี้
1. การเตรียมผู้สอนให้พร้อม
2. การวางแผนการเรียนรู้
3. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การเตรียมผู้สอนให้พร้อม ซึ่งความหมายของการเตรียมผู้สอนให้พร้อม หมายถึงการที่ผู้สอนจะต้องมีความพร้อมในด้านความรู้ที่จะนำไปสู่การจัด ประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ทั้งนี้องค์ประกอบด้านความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับความรู้มีดังนี้
1.1 การมีความพร้อมด้านความรู้ที่ตรงตามที่หลักสูตรกำหนด ทั้งนี้ผู้สอนจะต้องวิเคราะห์จากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 ที่กำหนดสาระที่ควรเรียนรู้ไว้ 4 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว จากนั้นจึงหาความรู้ในเรื่องดังกล่าวในขอบเขตที่จะนำมาสู่การสร้างกรอบความ รู้ที่พอเหมาะและพอเพียงกับผู้เรียน
1.2 การกำหนดความรู้ ทั้งนี้ผู้สอนจะนำหัวข้อเนื้อหาที่ได้จากการวิเคราะห์หลักสูตรมากำหนดขอบเขต ของเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความยากง่ายของเนื้อหาสาระ ความพอเพียงกับความสามารถที่จะเรียนรู้ในแต่ละวัย และความสอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
1.3 การศึกษาความรู้ที่มีความถูกต้อง สมบูรณ์ การกลั่นกรองสาระให้มีความเหมาะสมกับธรรมชาติในการเรียนรู้ของผู้เรียน และศึกษาถึงธรรมชาติ ลักษณะของสาระความรู้นั้น ๆ เพื่อเข้าใจถึงคุณค่าของความรู้ที่จะก่อให้เป็นความรู้ที่มีความหมายต่อผู้ เรียน
1.4 จัดลำดับความรู้จากง่ายไปหายาก ทำความเข้าใจและจัดความรู้ที่ซับซ้อนให้มีความง่ายเหมาะกับการทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงความรู้ไปสู่สาระที่มีอยู่ในสภาพชีวิตจริงที่ ผู้เรียนประสบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการนำความรู้ไปใช้
1.5 มีความรู้ที่พร้อมที่จะให้คำอธิบาย คำแนะนำ หรือให้คำปรึกษา ให้ความรู้ที่ ชัดเจนตรงไปตรงมา และเป็นความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์
1.6 การเตรียมแหล่งความรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประกอบการเรียนรู้ ทั้งจากการปฏิบัติ การทดลอง การสืบเสาะ การสืบค้น ซึ่งแหล่งความรู้นี้จะต้องเป็นแหล่งความรู้ที่ใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ ในแบบแผนต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกันกับลักษณะของความรู้ ลักษณะของกิจกรรม และธรรมชาติของผู้เรียน แหล่งความรู้ที่จัดเตรียมหรือจัดหา ได้แก่ แหล่งความรู้ประเภทสื่อการเรียนรู้ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ประกอบกิจกรรมหรือการปฏิบัติการ หรือการทดลอง แหล่งความรู้ประเภทห้องสนับสนุนกิจกรรม เช่น ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ ห้องสืบค้น รวมทั้งแหล่งความรู้ในชุมชน แหล่งความรู้ประเภทบุคคล ได้แก่ วิทยากร ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งความรู้เหล่านี้และจัดเก็บไว้ อย่างเป็นระบบเพื่อการนำมาใช้ และขณะเดียวกันจะต้องมีการกลั่นกรองจัดนำเสนอแหล่งความรู้ให้มีความเหมาะสม กับธรรมชาติของผู้เรียนด้วย
1.7 การเข้าใจผู้เรียน ได้แก่ การทำความเข้าใจถึงลักษณะธรรมชาติของผู้เรียนระดับปฐมวัยศึกษา เกี่ยวกับธรรมชาติของการเรียนรู้ประจำวัย และคุณลักษณะตามวัยของผู้เรียน ทั้งนี้เพื่อนำมาสู่การจัดสาระความรู้ที่พอเหมาะกับผู้เรียน
1.8 การพัฒนาความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอให้มีความพอเหมาะ มีความเป็นปัจจุบัน และนำมาใช้พัฒนาความรู้เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2. การวางแผนการเรียนรู้ เป็นการกำหนดวิธีการจัดประสบการณ์ที่จะนำผู้เรียนไปสู่ จุดประสงค์การเรียนรู้ โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ความสามารถและคุณลักษณะตามวัยของผู้เรียน วิธีการจัดประสบการณ์ที่เหมาะกับธรรมชาติผู้เรียน ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับการวางแผนการเรียนรู้นั้น จะเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการจัดประสบการณ์ใน 4 เรื่องดังนี้

2.1 การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ เป็นการคาดหวังของกระบวนการจัดประสบการณ์ที่ต้องการให้ผู้เรียนพัฒนาไปสู่ เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งว่าต้องการพัฒนาผู้เรียนไปใน ลักษณะใด ทั้งนี้การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายทางการ ศึกษาใน 3 ลักษณะคือ จุดมุ่งหมายทางด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ขณะเดียวกันการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้นี้จะต้องคำนึงถึงประสบการณ์สำคัญ ว่า ในการจัดประสบการณ์ครั้งนี้ต้องการให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์สำคัญอย่างไร บ้าง การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้จะช่วยเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การกำหนดวิธีการ จัดประสบการณ์ที่สอดคล้องกันต่อไป
2.2 การกำหนดสาระการเรียนรู้ เป็นการนำความรู้ที่ได้กลั่นกรองและกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมกับผู้เรียนมา กำหนดไว้ ทั้งนี้ต้องเป็นสาระที่มีความหมายต่อผู้เรียน เชื่อมโยงกับชีวิตจริง มีความยากง่ายที่เหมาะกับวัย และสามารถนำไปสู่การให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากการสร้างความรู้ด้วยตน เอง ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
2.3 การกำหนดวิธีการจัดประสบการณ์ เป็นการจัดประสบการณ์ที่ยึดหลักการเรียนรู้จากการกระทำ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ได้เคลื่อนไหว สำรวจ สังเกต สืบค้น ทดลอง และเรียนรู้ร่วมกับกลุ่ม การกำหนดวิธีการจัดประสบการณ์นี้ จะต้องสอดคล้องกับ จุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้
2.4 กำหนดวิธีการประเมินผล เป็นการประเมินผู้เรียนว่ามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่จุดประสงค์การเรียนรู้ ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดวิธีการและเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น กับผู้เรียน โดยนำจุดประสงค์การเรียนรู้มาเป็นหลัก และกำหนดการประเมินผลตามจุดประสงค์นั้น ทั้งนี้จะต้องเป็นการประเมินผลที่ครอบคลุมทั้งด้านกระบวนการและผลงาน มีการออกแบบเครื่องมือการประเมินผลที่เหมาะสมและใช้ประเมินได้ตรงกับสิ่งที่ ต้องการ
3. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้เรียน โดยยึดหลักการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ และรับรู้ผ่านอวัยวะรับสัมผัส ทั้งนี้การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้จะต้องพิจารณาจากจุดประสงค์การเรียนรู้ ว่าต้องการให้ผู้เรียนพัฒนาในเรื่องใด ต้องการให้ได้รับประสบการณ์สำคัญด้านใด สาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้นั้นมีธรรมชาติของความรู้ในลักษณะใด จากนั้นจึงเลือกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม ดังตัวอย่างต่อไปนี้


เมื่อออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยเลือกรูปแบบ หรือวิธีการที่ตรงกับทักษะ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ต้องการจึงเข้าสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ ตามที่คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ (2543 : 22-28) ได้เสนอวิธีไว้ดังต่อไปนี้
1. การสำรวจความต้องการ เป็นการศึกษาถึงความต้องการและความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ โดยการซักถาม หรือการจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและสรุปเป็นความต้องการที่จะ เรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นจึงสำรวจความรู้หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนที่มีต่อเรื่องเหล่า นั้น การสำรวจพื้นฐานของผู้เรียน ทำให้เกิดการกำหนดถึงประเด็น หัวข้อเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการที่จะรู้คำตอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
2. การเตรียมการ เมื่อได้เรื่องและหัวข้อเรื่องแล้ว ครูกับเด็กร่วมกันเตรียมการ โดยเริ่มจากครูต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเรื่องกับสาระการเรียน รู้ในหลักสูตร การกำหนดประสบการณ์สำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับ และการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ นำเรื่องที่ ผู้เรียนต้องการเรียนบูรณาการสาระความรู้เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ และครูร่วมแสดงความคิดเห็นออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ จากประสบการณ์ พร้อมทั้งจัดเตรียมแหล่งความรู้ สื่ออุปกรณ์ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่ออกแบบร่วมกันไว้

3. การดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่ออกแบบไว้ ตามขั้นตอนดังนี้
3.1 นำเข้าสู่บทเรียน เป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนต่อเรื่องที่จะเรียน ผู้สอนควรใช้คำถาม กิจกรรม หรือสถานการณ์ที่กระตุ้น หรือท้าทายให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยอยากรู้ในประเด็นต่าง ๆ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตั้งปัญหา และตอบคำถามจากประสบการณ์หรือการ คาดคะเน
3.2 ขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดำเนินการตามกิจกรรมที่ได้เตรียมการไว้ ทั้งนี้ ผู้เรียนจะต้องมีส่วนร่วมเสนอกิจกรรมและลงมือปฏิบัติทุกขั้นตอนของกิจกรรม มีการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มและสมาชิกระหว่างกลุ่ม ครูจะคอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาและอำนวยความสะดวก คอยสนับสนุนและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเอง เกิดการพัฒนาทั้งปัญญาวิชาการและปัญญาทางอารมณ์ควบคู่กันไป
3.3 ขั้นวิเคราะห์ อภิปรายผล เป็นการสรุปผลจากการทำกิจกรรม โดยครูจะร่วมกับผู้เรียนอภิปรายถึงผลงานหรือประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้ค้นพบ จากกิจกรรม และครูจะสนับสนุนเพื่อให้ข้อมูลที่ได้นั้นชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีความมั่นใจต่อความรู้ และวิธีการแสวงหาความรู้ เกิดเป็นแนวทางที่จะใช้ในการแสวงหาความรู้ต่อไป
4. การประเมินผล เป็นการประเมินผลเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ ว่าเป็นไปตาม จุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ ตามวิธีการและเครื่องมือที่ได้ออกแบบไว้ การประเมินผลนี้ต้องครอบคลุมทั้งด้านความรู้ทักษะการแสดงออกและความรู้สึก ของผู้เรียนและต้องประเมินถึงกระบวนกรที่ผู้เรียนได้ใช้ในการสร้างความรู้ รวมทั้งผลการเรียนรู้ ทั้งนี้การประเมินจะประเมินทั้งในขณะที่ดำเนินกิจกรรมและประเมินหลังกิจกรรม
5. การสรุปและนำไปประยุกต์ใช้ หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดประสบการณ์และรวบรวมเป็นความรู้ที่ได้สร้างขึ้นด้วยตนเอง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เกิดเป็นข้อสรุปจากสาระที่ได้เรียนรู้ ครูจะแนะนำให้ผู้เรียนได้แสดงออกถึงผลการเรียนรู้ โดยการสะท้อนความคิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเพื่อน การแสดงผลงานในรูปต่าง ๆ เช่น การจัดการแสดง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งการแสดงแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิต ประจำวันในลักษณะต่าง ๆ และการแสวงหาความรู้ต่อไป
บทบาทครูในด้านการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว จึงเป็นลักษณะที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ และได้สร้างความรู้ด้วยตนเองในขณะปฏิบัติกิจกรรม โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวก รวมทั้งการให้เวลาสำหรับผู้เรียนที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งในที่สุดผู้เรียนจะได้ คำตอบหรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เกิดเป็นความรู้ที่มีความหมายและนำไปใช้ประโยชน์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น