วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553

บทบาทของครูกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

บทบาทของครูกับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

-----------------------------------------------------------------------------------------------

บทนำ

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งพัฒนาผู้เรียนในลักษณะองค์รวม มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญาและสังคม ในทุกช่วงชั้นของการจัดการศึกษา ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการพัฒนาตนเองตามเป้าหมาย และวิธีการที่วางไว้ตามศักยภาพของตนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนา ผู้เรียน ให้รู้จักตนเอง ค้นพบความสามารถ ความถนัดของตน เพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เห็นคุณค่าในการประกอบสัมมาชีพ ให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย ศีลธรรม จริยธรรม รู้จักบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ การบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข บนพื้นฐานความเป็นไทย กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้อื่น ได้อย่างมีความสุข เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเลือกเองตามความสามารถ ความสนใจและความถนัดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่ครูจัดขึ้นในการเรียนวิชาต่างๆ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเรียนและสอบให้ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น แต่ทว่ารวมไปถึงกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำและช่วยกันแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมิน และปรับปรุงการทำงาน โดยเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม อันเป็นการปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เท่าที่ดำเนิน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนที่ผ่านมา ครูไม่ได้ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชุมนุม กลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม หรือกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ส่วนใหญ่โรงเรียนจัดเพื่อให้ผ่านไปปีหนึ่งๆ เท่านั้น แท้ที่จริงเป็นหน้าที่อัน สำคัญของครูที่จะต้องดำเนินการ ใช่แต่ทำหน้าที่สอนเฉพาะรายวิชา 8 กลุ่มสาระเท่านั้น ครูบางคนยังมีความเข้าใจว่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไม่มีผลต่อ การเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด ไม่มีการวัดผลประเมินผล เพราะหลักสูตรกำหนดไว้ให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น ครูบางคนจึง ปล่อยให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม เพียงลำพังไม่สนใจว่าผลจะออกมาอย่างไร ความเป็นจริงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และผ่านเกณฑ์ที่สถาน ศึกษากำหนดก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพ ความสามารถด้านต่างๆ ที่ผู้เรียนมีอยู่ให้มากที่สุด ซึ่งมีผลให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองไปตามความสามารถ ความสนใจ และความถนัดของตนตามศักยภาพ ดังนั้น ครูต้องเอาใจใส่ในการจัดกิจกรรมที่นักเรียนได้ปฏิบัติ ฝึกฝน ใช้ความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มีความสอดคล้องกับธรรมชาติและความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงงาน ดังนั้น ภารกิจ หลักของโรงเรียน คือ วางแผนจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สนองต่อความต้องการของผู้เรียน ชุมชนและท้องถิ่

การดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

โรงเรียนสามารถดำเนินการได้ดังนี้

  1. ประชุมชี้แจงครู ผู้ปกครอง ผู้เรียน เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  2. พิจารณาวิสัยทัศน์ของโรงเรียน
  3. สำรวจข้อมูล ความพร้อมของโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น สภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน
  4. วางแผนร่วมกันจัดทำแผนงาน/ โครงการ
  5. ปฏิบัติตามแผนงาน/ โครงการ
  6. นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน
  7. สรุป/ รายงานผลการปฏิบัติงาน

เมื่อโรงเรียนได้ดำเนินการวางแผนงาน / โครงการในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแล้ว โรงเรียนจะต้องดำเนินการในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม โดยดำเนินการได้ดังนี้

  1. นักเรียนจัดตั้งกลุ่มตามความสนใจ ความถนัดและความต้องการ หรืออาจเข้าร่วมกิจกรรมตามข้อเสนอแนะของโรงเรียน
  2. รับการปฐมนิเทศจากครูที่ปรึกษากิจกรรม โดยให้นักเรียนเลือกครูที่ปรึกษากิจกรรม เพื่อรับฟังขอเสนอแนะในการเข้าร่วมและดำเนินกิจกรรม ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  3. ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย ประธาน เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน และอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  4. ประชุมวางแผนจัดทำแผนงา/ โครงการ และปฏิทินงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องมีการวางแผนใน การดำเนินงาน ที่ประชุมควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน และจัดทำโครงการปฏิทินงานที่กำหนดวัน เวลา ไว้อย่างชัดเจน แล้วนำเสนอต่อครูที่ปรึกษากิจกรรม
  5. ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการและปฏิทินที่กำหนดไว้ เมื่อแผนงาน โครงการและปฏิทินงานได้รับอนุมัติจากผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ผู้เรียนจึงจะสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการ และปฏิทิน ที่กำหนดไว้ในรูปแบบของคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งโดยกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ
  6. ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม การประเมินผลจะต้องประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเมินตนเอง เพื่อนร่วมงาน คุณภาพงาน ถ้าไม่เกิด คุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ต้องปฏิบัติตามกิจกรรมเพิ่มเติมตามที่ครูที่ปรึกษา มอบหมายหรือความเห็นชอบตามผู้เรียนเสนอ
  7. สรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เมื่อปฏิบัติกิจกรรมเสร็จสิ้นโครงการแล้ว คณะกรรมการดำเนินกิจกรรมจะต้องประชุม เพื่อสรุปผลการดำเนิน กิจกรรมเสนอต่อครูที่ปรึกษากิจกรรม

บทบาทของครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ครูต้องเป็นที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามคำร้องขอของผู้เรียน หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารโรงเรียนให้เป็นครูที่ปรึกษา โดยมีบทบาทดังนี้

  1. ปฐมนิเทศ ให้ผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายและวิธีการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  2. เลือกตั้งคณะกรรมการ จัดให้ผู้เรียนเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
  3. ส่งเสริมการจัดทำแผนงาน / โครงการ ส่งเสริมให้ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกของกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนงาน/ โครงการ และปฏิทิน การปฏิบัติงานอย่างอิสระ
  4. ประสานงาน ประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านทรัพยากรตามความเหมาะสม
  5. ให้คำปรึกษา ดูแลให้คำปรึกษา ติดตามการจัดกิจกรรมของผู้เรียนให้เป็นไปตามแผนงาน
  6. ประเมินผล ประเมินผลการเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน ดูแลและพัฒนาผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม พร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์
  7. สรุปผลและรายงาน สรุปผล และรายงานต่อหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือผู้บริหารโรงเรียน

การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การประเมินผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง สำหรับการผ่านช่วงชั้นตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องเข้า ร่วมและปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตลอดจนผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด โดยครูที่ปรึกษากิจกรรม ผู้เรียน และผู้ปกครอง มีส่วนร่วมตามแนว ประเมิน ดังนี้

  1. ประเมินการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกิจกรรม โดยประเมินจากพฤติกรรม การปฏิบัติกิจกรรม และผลการปฏิบัติกิจกรรม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย
  2. ตรวจสอบเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียน ที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
  3. ใน กรณีที่กิจกรรมใดที่ต้องใช้เวลาปฏิบัติตลอดปี เมื่อสิ้นภาคเรียนแรก ผู้รับผิดชอบกิจกรรมต้องจัดให้การประเมินการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนเพื่อ สรุป ความก้าวหน้า และสภาพของการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนระยะหนึ่งก่อน เพื่อปรับปรุง แก้ไข หรือส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และรายงานผลการประเมินให้ผู้ปกครองทราบ โดยทำการประเมินตามจุดประสงค์สำคัญของกิจกรรม และนำผลการประเมินในภาคเรียนที่หนึ่งไปรวมกับผลการประเมินในภาคเรียนที่สอง เพื่อตัดสินผลการประเมินการผ่านจุดประสงค์ของกิจกรรม เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา
  4. ตัดสินให้ผู้เรียนที่ผ่านจุดประสงค์สำคัญของกิจกรรมและเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ครบตามเกณฑ์ให้เป็นผู้ผ่านการประเมิน ผู้เรียนที่มีผลการประเมินบกพร่อง ในเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งหรือทั้งสองเกณฑ์ จะเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินผลการร่วมกิจกรรม จะต้องซ่อมเสริมข้อบกพร่องให้ผ่านเกณฑ์ก่อนจึงจะได้รับ การตัดสิน ให้ผ่านกิจกรรมในภาพรวมการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายกิจกรรม เป็นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง แฟ้มสะสมผลงานการ จัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนได้ โดยอาจกำหนดรูปแบบการสะสมผลงานได้ตามความเหมาะสม

สรุป

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่พัฒนาความสามารถ ความถนัดของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความคิดวิเคราะห์ การวางแผนจัดการ ทั้งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีคุณธรรม ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขบนพื้นฐานความเป็นไทย โรงเรียนจะต้องจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับความรู้ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ครูที่ปรึกษาควรดูแล ศึกษา ติดตาม ผู้เรียนกรณีที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม มีการประเมินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม มีการบันทึกเป็นหลักฐานและประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลายตามสภาพจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น